ReadyPlanet.com
dot
dot
บริการที่เรานำเสนอ
dot
bulletมายากลเวทีปกติ
bulletมายากลอิลลูชั่น
bulletมายากลสตรีท
bulletเมจิคแดนซ์
bulletออกแบบมายากล
bulletเวิร์คช็อปมายากล
bulletตัวตลก โบโซ่
bulletเปลี่ยนหน้ากากจีน
bulletมายากลจีนเห้งเจีย
bulletกายกรรม
bulletจักกลิ้ง(Juggling)
bulletละครใบ้ คนหน้าขาว
bulletDUO Entertainer
bulletหุ่นนิ่ง
bulletผลงานการแสดงล่าสุด
bulletติดต่อเรา
bulletกลับสู่หน้าแรก
dot
โชว์เปลี่ยนหน้ากาก
dot
bulletตรุษจีนเยาวราช 2018
bullet*มีคลิป* ตรุษจีน Central World 2024
bulletตรุษจีนเมืองเพชร 2012
dot
งานออกสื่อ
dot
bullet*ตู้เสกคน* รายการวิกสามยามบ่าย
bulletNews Variety TNN24
bulletคู่เม้าท์ คู่มันส์ My TV
bulletNice Daily Nice Channel
dot
ตัวตลกเยอะๆ หลายๆ ตัว
dot
bulletแถลงข่าวแกรมมี่วันเดอร์แลนด์
bulletงานแถลงข่าว 42 ปีช่อง 3
dot
เกร็ดความรู้ เรื่องมายากล
dot
bulletความเป็นมาของวิทยากลไทย
bulletอมตะมายากลในรอบ 100 ปี
bulletชมรมวิทยากลแห่งประเทศไทย




ความเป็นมาของวิทยากลไทย

ความเป็นมาของวิทยากลไทย

: ฉบับปรับปรุงแก้ไข เมื่อ พ.ค. 2549  โดย...ชาลี  ประจงกิจกุล

                 วิทยากลในโลกเรานี้ก่อกำเนิดมานานนับพันปี มีผู้พบภาพบนผนังถ้ำ เป็นการแสดงกลด้วยถ้วย 3 ใบและยังพบบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับวิทยากลเป็นจำนวนมากกระจัดกระจายตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สันนิษฐานโดยสรุปว่าวิทยากลน่าจะกำเนิดมาจากชาวกรีกโบราณ ค่อยๆ เผยแผ่ไป ในยุโรป  และเอเซีย

          

 

               ตอนสมัยเด็กผู้เขียนเคยนึกสงสัยและตั้งคำถามตัวเองตลอดว่า วิทยากลเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อใด ได้สอบถามผู้สูงอายุหลายท่านแต่ก็ไม่ได้คำตอบที่แจ่มชัดนัก นอกจากคำบอกเล่าที่ว่า เคยดูกลตั้งแต่เด็กพอจำความได้ เป็นการแสดงกลของชาวอินเดียเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นการแสดงชุดปลูกมะม่วง และแทงคนในตะกร้า       ด้วยคำถามที่ยังคั่งคาใจ  จึงได้พยายามเสาะหาหนังสือประวัติศาสตร์ไทย พงศาวดาร จดหมายเหตุ และบันทึกต่าง ๆ แต่ด้วยความที่มีความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์กระท่อนกระแท่นเต็มที ทำให้ไม่รู้ทิศทางที่จะเริ่มต้นว่าต้องอ่านเล่มไหน  อ่านอะไร อ่านอย่างไร 

                 จึงเริ่มต้นไล่ย้อนลำดับจากปัจจุบันไปอดีต  ตั้งแต่รัตนโกสินทร์ ไปกรุงธนบุรี กรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัยบันทึกต่าง ๆ ที่อ่านพบมักจะเป็นเรื่องอภินิหาร คาถาอาคม เช่น แทงลิ้น ล่องหนหายตัว ตาทิพย์ หูทิพย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สรุปไม่ได้ว่าเป็นวิทยากลหรือไสยศาสตร์ เพราะในสมัยโบราณการปกครองต่าง ๆ ยังเป็นระบบศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ระบบทาสและไพร่ ซึ่งการจะให้บริวารอยู่ในอาณัติ ง่ายต่อการปกครองต้องทำให้คนเหล่านั้นเชื่อถือและเกรงกลัวในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์เป็นเบื้องแรก

                 แม้ในประวัติศาสตร์ที่เรียนสมัยเด็ก ๆ ยังกล่าวถึงเรื่องราวสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชช่วงที่ทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นฑูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสว่า เมื่อเดินทางไปถึงได้ใช้มือเปล่ารูดใบมะขามมาเสกเป่าให้กลายเป็นตัวต่อตัวแตน บินไล่ต่อยชาวฝรั่งเศสจนกระจัดกระเจิง ซึ่งออกจะฟังดูเหนือจริง แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองจึงต้องบันทึกไว้เช่นนั้น

                ในหนังสือนิทานเรื่องศรีธนญชัย ฉบับของ พ. ณ บางพลี เขียนไว้ว่ามีแหม่มสาวเดินทางเข้ามาเมืองไทยเปิดการแสดงกล แต่ถูกศรีธนญชัยท้าให้แสดงกลแข่งกัน ว่าใครสามารถปัสสาวะใส่ขวดได้โดยไม่เลอะเทอะ คนนั้นเป็นผู้ชนะ ท้ายสุดแหม่มก็ต้องแพ้กลับไป

                 ส่วนตัวของผู้เขียนเองมีความเชื่อว่าวิทยากลน่าจะเข้ามาในเมืองไทยพร้อม ๆ กับการที่เริ่มทำการค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาเผยแพร่วัฒนธรรมต่าง ๆ รวมทั้งวิทยากลด้วย ฝรั่งชื่อ นิโกลาส์ แชรแวส เคยบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อ พ.ศ. 2231 ว่า นักแสดงบางคนสามารถแสดงปาฏิหาริย์ให้เกิดดอกไม้ต่างๆ ในกระถางขึ้นได้ แต่ไม่ได้ระบุว่าใครแสดง เป็นชาวอะไร ผู้เขียนเองสันนิฐานว่า คงเป็นชาวอินเดีย แสดงชุดปลูกต้นมะม่วง  จากหลักฐานตรงนี้ทำให้เรารู้ว่าเมืองไทยมีการเล่นกลมาไม่น้อยกว่า 300 ปี  และที่น่ายินดีคือเราเคยมีสมาคมกล , การประกวดวิทยากล และยังเคยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นนักวิทยากล

                 พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ 5) เรื่องนิทราชาคริต ซึ่งทรงนิพนธ์ในช่วงปี พ.ศ.2420 ระบุว่าในเมืองไทยเคยมีสมาคมกลมาก่อน ใช้ชื่อว่า ROYAL MAGICAL SOCIETY แต่เดิมเรียกอ่านกันว่า  รอแยล มายิเกมต์ โซไซเอตี หรือ   สมาคมนักกลหลวง (ระบุชื่อภาษาไทยตามระเบียบตำนานละคร พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับ พ.ศ.2465) สมาคมนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2419 ประธานสมาคมคือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช (ต้น สกุลภาณุพันธุ์) ซี่งทรงเป็นพระอนุชาแท้ ๆ ของ ร.5    มีนักวิทยากล หลายท่าน คือ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์ (ต้นตระกูลชมพูนุท) พระเจ้าประดิษฐ์วรการ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  หม่อมเจ้าประวิช แม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง ในหนังสือก็ได้บันทึกไว้ว่า ทรงซ้อมเล่นกลแต่จะแสดงด้วยหรือไม่นั้น ไม่มีการบันทึกไว้

          “เวลาย่ำค่ำเสด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทดสวดมนต์แล้วตรัสกับสมเด็จกรมพระฯ ทูลเรื่องภาษีอากรต่างๆ แล้วทูลว่า เจ้าพระยาสุรวงศ์มาพูดด้วยการหาดไทยกับท่านเวลาวันนี้ว่า จะช่วยฉลองพระเดชพระคุณทุกอย่าง ให้ทรงจัดการออฟฟิศเสียให้เรียบร้อยด้วยกรมหาดไทยค้นหนังสือหนังหานั้นยากนัก ถ้าจะจัดการแล้วให้เอาพระนรินทรมาไล่เลียงดูก็ได้ เขาเคยแล้ว ท่านทรงตอบเวลานี้เพิ่งแรกรับการจะขอรอไว้ก่อน ท่านจึงว่าภายหลังต่อไป (สมเด็จดูค่อยสบายพระทัยมาก) สวดมนต์จบแล้วเสด็จขึ้น ทรงซ้อมเล่นกลจนเวลา ๘ ทุ่ม เลิกเสด็จขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท”

                 หากจะไล่เรียงเอกสารบันทึกต่าง ๆ เกี่ยวกับสมาคมนักกลหลวง ก็คงต้องไล่ตั้งแต่หนังสือ ลิลิตนิทราชาคริช  ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2465 ในบทท้าย มีคำอธิบายไว้เกี่ยวกับงานรื่นเริงประจำปี ว่า

 ".....บางปีโปรดฯ ให้นัดแต่งพระองค์กันแปลก ๆ ซึ่งหมายถึงแต่งแฟนซี บางปีโปรดฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการสมาคม รอแยล มายิเกล โซไซเอตี เล่นกลและเล่นละครพูดเป็นการรื่นเริงประจำปี......"

                บันทึกใน หนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ 1 พระราชนิพนธ์ในรัชการที่ 5 บันทึกถึงงานรื่นเริงปีใหม่ (พ.ศ.2419) ว่า

                "....หนนี้ (ร.5) แต่งแฟนซีเป็น ปชา (PACAH เจ้าเมืองตุรกี) เจ้านายองค์อื่น ๆ แต่เป็นขุนนางอังกฤษบ้าง รอบินฮูดบ้าง ชายครึ่งหญิงบ้าง ฯลฯ ครั้นเสวยแล้วจับฉลากของต่าง ๆ แล้วเล่นกลแลเซียเตอ (THEATRE) คือเล่นกลและละครปีนี้เล่นเรื่องอาลีบาบา ผู้เล่นกลมี กรมขุนเจริญผลฯ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นต้น พระองค์ทรงทอดพระเนตรการเล่นกลจบแล้ว ทรงตรัสว่าแลกลนี้เล่นสนุกนัก...."

                 ในหนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค 6 มีบันทึกเขียนว่า

                 "....วันแรม 13 ค่ำ เดือน 4 จ.ศ.1239 สวดมนต์จบแล้ว ร.5 ทรงซ้อมเล่นกล จนถึง 8 ทุ่ม จึงเสด็จขึ้น...."

                หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ เล่ม 2 หน้า 130 ของหมอบรัดเลย์  ซึ่งพิมพ์ในสมัยรัชการที่ 4 บันทึกว่า

                "ปี พ.ศ.2409 กรมพระราชวังบวรไชยชาญ ทรงกำลังหัดเล่นกลด้วยน้ำยาเคมีต่าง ๆ เป็นการประหลาด " และท่านยังทรงลงทุนจ้างล่ามมาแปลหนังสือตำราภาษาอังกฤษออกเป็นภาษาไทย แสดงว่าวิทยากลเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่มารวมตัวก่อตั้งเป็นรูปร่างในนามสมาคมนักกลหลวง ในรัชกาลที่ 5

                นอกจากนั้นแล้วยังเคยมีการแจกรางวัลให้กับผู้ที่แสดงกลดี ตามที่มีบันทึกไว้ว่า

                 เสด็จมาที่กลางชลาด้านตะวันตกแห่งพระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ประทับร้อนด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในเปนอันมาก ที่ชลาหน้าโรงกลทอดพระเนตรเล่นกลของรอยยัลมายิเกมต์ โซไซเอตี แลกลนี้เล่นสนุกนัก แลเล่นอยู่จนเวลา 10 ทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเลือกใบโวต สำหรับแจกของรางวัลใครจะเล่นดีแลของดีแลคิดดี อยู่ที่ชลาโรงกลนั้น

                ณ วันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 2 ค่ำ ปีชวดยังเปนสัปตศก จุลศักราช 1237 เวลาย่ำรุ่งแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรจากชลาข้างพระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬารด้านตวันตก ทรงทอดพระเนตรพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเล่นเครื่องเล่นต่างๆ  ซึ่งทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดไว้ประมาณ 10 นาที ครั้นแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานรางวัลพวกที่เล่นกล คือ

                ดีโปลมาชั่นที่ 1 เปนแพรสีเหลือง ข้างริมมีดิ้นสีทองสลับกัน มีตัวอักษรพิมพ์ในนั้น กับหีบกาไหล่ทอง 1 กล้องสำหรับดูลคร 1 ได้แก่ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ (ต้องถือว่าเป็นนักวิทยากลชาวไทยท่านแรก ที่ได้รางวัลที่ 1 – ผู้เขียน)

                ดีโปลมาชั่นที่ 2 เปนแพรสีแดงกับหีบวงเวียนหีบ 1 แก่พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ       ซึ่งเปนช่างทำเครื่องกล

                ดีโปลมาชั่นที่ 3 เป็นแพรสีขาวกับลูกปืนสำหรับไว้บุหรี่ แก่ พระอมรวิไสยสรเดช

                เพราะท่านทั้ง 3 นี้ได้มีความชอบในการมายิกเก็มต์ โซไซเอดตี (หลักฐานแต่ละฉบับ สะกดต่างกัน – ผู้เขียน) เปนอันดับกันดังเช่นว่ามาแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานแจกสำเนาความในดีโปลมาลงอักษรพิมพ์ในแผ่นกระดาษเหลืองแก่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

          ในปี พ.ศ. 2421 มีนักวิทยากลอีกท่านหนึ่งที่น่าสนในคือ หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักวิทยากลและจิตรกรวาดรูป ท่านเคยคิดจะตั้งโรงเล่นกลขึ้น แต่ต่อมาไม่ทราบด้วยเหตุใดเรื่องนี้จึงไม่มีการบันทึกเพิ่มเติม  ช่วงนั้นมีการฉายภาพหมู่ของนักกลหลวงหน้าโรงละครแห่งนี้โดยช่างภาพชาวต่างประเทศ ชื่อ เฮนรี ชูเรน ซึ่งเข้ามารับจ้างถ่ายรูปและเปิดเป็นสตูดิโอ ชื่อ H.S.PHOTOGRAPHIC STUDIO BANGKOK SIAM ภาพนี้ปัจจุบันเก็บไว้ในไมโครฟิล์ม ที่หอสมุดแห่งชาติ รหัส ภอ.001 หวญ.8    

 

                 เป็นเรื่องแปลกที่เรื่องราวของ สมาคมนักกลหลวง ได้หายไปไม่มีการบันทึกไว้รัชสมัยของ รัชกาลที่ 6 ทั้งๆ ที่พระองค์ (รัชกาลที่ 6) ท่านก็ทรงเป็นผู้ที่ชื่นชมเรืองราวการแสดงอยู่ไม่น้อย  เรื่องเกี่ยวกับวิทยากลของไทยที่รวบรวมมานี้ ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าครบถ้วนเพราะยังคงมีเรื่องราวอีกมากที่ยังหาไม่พบ ในโอกาสต่อไปผู้เขียนจะสืบค้นเรื่องราวของวิทยากลไทย ในยุคช่วงสงครามโลก ที่เข้ามาเผยแผ่ในรูปแบบของ กลกลางแปลง กลขายยา และ ปาหี่

 

เอกสารอ้างอิง

- เอกสารชมรมสยามเมจิกคลับ ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 โดย ชาลี ประจงกิจกุล

-  ลิลิตนิทราชาคริช ปี พ.ศ. 2465 หน้า 231

- หนังสือบางกอกรีคอร์เดอร์ เล่ม 2 ปี พ.ศ. 2409 หน้า 130

- จดหมายเหตุพระราชกรณียกิจรายวัน ปี พ.ศ. 2476 และ พ.ศ. 2477 ภาค 1,6,7

- หนังสือข่าวราชการปี พ.ศ. 2418 และ พ.ศ. 2419

- ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2231

- จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป รศ. 116 โดย พระยาศรีสหเทพ

-  หนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน กรกฎาคม 2539

- หนังสือราชสำนักสโมสร โดย อเนก นาวิกมูล

-  หนังสือเจ้าชีวิต ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

 







Copyright © 2010 All Rights Reserved.