ประวัติ ชมรมวิทยากลแห่งประเทศไทย (Magic Society Of Thailand)
หากสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับวงการวิทยากลในเมืองไทยจะพบว่า มีมาตั้งแต่ปลายสมัยสุโขทัยคาบเกี่ยวต้นสมัยอยุธยาเลยทีเดียว แต่มาได้รับการบันทึกเป็นเรื่องราวในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้น เรื่องราวของวิทยากลในเมืองไทยก็ขาดหายไปจากบันทึกประวัติศาสตร์ จนมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2จึงมีเรื่องราวของวิทยากลในเมืองไทยให้พบเห็นอยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มที ว่ากันว่า วิทยากลในเมืองไทยที่แพร่หลายในปัจจุบัน ไม่ได้เริ่มต้นจากบนเวที แต่เริ่มต้นจาก กลกลางแปลง หรือกลขายยา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากชาวจีนและชาวอินเดีย ที่อพยพมาเมืองไทยสมัยนั้น คนไทยก็เริ่มต้นจากการเป็นลูกมือในคณะ แล้วอาศัยครูพักลักจำร่ำเรียนกันมา สืบทอดสู่ลูกหลานและลูกศิษย์
ในช่วงราวปี 2520 กลกลางแปลงหรือกลขายยา ก็ลดจำนวนน้อยลง จากเหตุผลหลายประการอาทิ หัวหน้าวงล้มหายตายจากไปประการหนึ่ง ทำให้ลูกหลานและลูกศิษย์ต่างๆ เหล่านั้น ต้องเปลี่ยนรูปแบบการแสดงไปสู่การแสดงตามร้านอาหาร ภัตตาคาร และคาเฟ่ อีกทั้งมีการแสดงวิทยากลจากต่างประเทศซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์บ่อยๆ ทำให้มีนักมายากลจัดตั้งคณะแสดงของตนขึ้นมากมายหลายคณะ ในลักษณะต่างคนต่างลอกเลียนแบบกัน แย่งกันหางานแสดง แข่งขันกันตัดราคา ให้ร้ายป้ายสีคณะอื่น เรียกได้ว่าแข่งขันกันทุกรูปแบบ แต่ไม่ได้เน้นในการพัฒนาฝีมือหรือคุณภาพ จนเป็นเหตุทำให้ภาพลักษณ์ของวิทยากลส่วนหนึ่ง ถูกทำลายไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงได้มีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นนักวิทยากลที่มีความรู้สึกห่วงใยในอนาคตของศิลปะแขนงนี้ คือ
1. นายธนา งามวัฒน์
2. นายแมน รัตนพิทักษ์
3. นายนเรนทร์ ศราภัยวานิช
ทั้ง 3 ท่าน ได้ทำการปรึกษาหารือกันขึ้นเมื่อกลางดึกของคืนหนึ่ง ในปี พ.ศ.2528 ที่หน้า วิลลา คาเฟ่ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ นับเป็นความแปลกอย่างยิ่ง ที่บุคคลทั้ง 3 มีความคิด และมีวัตถุประสงค์ไปในทิศทางเดียวกันและในเวลาเดียวกัน หลังจากนั้น บุคคลทั้ง 3 มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อรวมนักมายากลในเมืองไทยเข้าด้วยกัน ให้มีจุดมุ่งหมายและแนวทางอันเดียวกัน และเพื่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความสมานฉันท์ ดุจพี่น้อง บุคคลทั้ง 3 จึงได้เริ่มชักชวนคณะวิทยากลในเมืองไทยทุกคณะ ร่วมกันจัดตั้งองค์กรวิทยากลขึ้น ภายใต้ชื่อว่า "ชมรมนักแสดงมายากลอาชีพแห่งประเทศไทย" ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 นักมายากลได้รวมตัวกันที่ห้องอาหาร "เวลคัม คาเฟ่" ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ และร่วมแสดงเจตนาที่จะรวมตัวกันสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชมรมฯ
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายใต้เจตนารมณ์ของชมรมฯ และพร้อมใจกันกำหนดให้ วันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันครบรอบของชมรมฯ จากนั้น สมาชิกของชมรมฯ จึงได้พร้อมใจกันแต่งตั้งให้ นาย แมน รัตนพิทักษ์ ดำรงตำแหน่ง "ประธานชมรมนักแสดงมายากลอาชีพแห่งประเทศไทย" เป็นคนแรก และต่อมา ทุกวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี สมาชิกชมรมฯ จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งประธานชมรมฯ พร้อมกับได้มอบสร้อยสะพายโลหะ คล้องคอ จารึกชื่อประธานคนปัจจุบัน และที่พ้นวาระให้กับผู้ใด้รับตำแหน่งประธานชมรมฯเพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมฯ (ปัจจุบันได้สูญหายไปอย่างน่าเสียดาย)
ต่อมาในปี 2532 นายธนา งามวัฒน์ (ซึ่งเป็นประธานชมรมฯในสมัยนั้น)มีความคิดที่จะให้องค์กรเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจในวิทยากลหรือแม้แต่ผู้ที่จำหน่ายอุปกรณ์แสดงวิทยากล ก็สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมฯได้ ไม่ใช่แต่เพียงเป็นองค์กรของผู้แสดงวิทยากลเท่านั้น จึงได้ตัดข้อความคำว่า "นักแสดง" กับคำว่า "อาชีพ" ออกไป และมีการเปลี่ยนชื่อใหม่จากเดิมคือ "ชมรมนักแสดงมายากลอาชีพแห่งประเทศไทย" มาเป็น "ชมรมวิทยากลแห่งประเทศไทย" และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า"Magic Society Of Thailand" และชมรมฯได้มอบหมายให้ นายชาลี ประจงกิจกุล เป็นผู้ออกแบบสัญลักษณ์ของชมรมฯ เป็นรูปแผนที่ประเทศไทยบนพื้นโลก อยู่ภายในหมวกทรงสูง ล้อมด้วยไม้แวนด์ ซึ่งมีความหมายว่า บัดนี้ เราได้ยกระดับวิทยากลของประเทศไทย ไปสู่ระดับโลก

รายนามผู้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมฯเรียงตามวาระ มีดังนี้.........
1. นายแมน รัตนพิทักษ์ (Dr.Man) ปี พ.ศ. 2528-2529
2. นายแมน รัตนพิทักษ์ (Dr.Man) ปี พ.ศ. 2529-2530
3. นายนเรนทร์ ศราภัยวานิช (Superman) ปี พ.ศ. 2530-2531
4. นายแมน รัตนพิทักษ์ (Dr.Man) ปี พ.ศ. 2531-2532
5. นายธนา งามวัฒน์ (Prince Yamaha) ปี พ.ศ. 2532-2533
6. นายนเรนทร์ ศราภัยวานิช (Superman) ปี พ.ศ. 2533-2534
7. นายนเรนทร์ ศราภัยวานิช (Superman) ปี พ.ศ. 2534-2535
8. นายสัณห์ ขยันเขียน (Sunny) 5 พ.ค.ปี 2535-5พ.ย. 2535 (ได้ลาออกก่อนพ้นวาระ)
นายนเรนทร์ ศราภัยวานิช และ นาย เกษม วรพิทักษ์ รักษาการแทนจนถึง 5 พ.ค. 2536
9. นายธีร์ธวัช ทรรพนันทน์ (S.Bell) ปี 2536-2537
10. นายภวัต พสิฐสกุล (Joey&Zacha) ปี 2537-2538
11. นายนเรนทร์ ศราภัยวานิช (Superman) ปี 2538-2539
12. นายธนา งามวัฒน์ (Prince Yamaha) ปี 2539-2540
13. นายสมพงษ์ อุทัยเฉลิม (Asvin) ปี 2540-2541
14. นายภวัต พสิฐสกุล (Joey&Zacha) ปี 2541-2542
15. นายธนา งามวัฒน์ (Prince Yamaha) ปี 2542-2543
16. นายธนา งามวัฒน์ (Prince Yamaha) ปี 2543-2544
17. นายเกษม วรพิทักษ์ (Kasem) ปี 2544-2545
18. นายภวัต พสิฐสกุล (Joey&Zacha) ปี 2545 - 2546
19. นายภวัต พสิฐสกุล (Joey&Zacha) ปี 2546 - 2547
20. นายภวัต พสิฐสกุล (Joey&Zacha) ปี 2547 - 2548 (ประธานรักษาการ)
21. นายทศรส พ่วงรอด (Batman) ปี 2548 - 2549 (ประธานรักษาการ)
22. นายทศรส พ่วงรอด (Batman) ปี 2549 – 2550
23. นายทนงศักดิ์ ขวัญศิริ (K Magic) ปี 2550 - 2551
24. นายไพฑูรย์ ไหลสกุล (อั๋น คนหน้าขาว) ปี 2551 – 2552
25. นายไพฑูรย์ ไหลสกุล (อั๋น คนหน้าขาว) ปี 2552 – 2553
26. นายจิรกร จิตวโรภาส (Black Dragon) ปี 2553 - 2554
27. นายจิรกร จิตวโรภาส (Black Dragon) ปี 2554 - 2555
28. นายศิรการ ศรีอาจ (Diamond Magic) ปี 2555 - 2556
29. นายภวัต พสิฐสกุล ปี 2556 - ปัจจุบัน